การเลือกน้ำมันเครื่อง

การเลือกน้ำมันเครื่อง

หลักการเลือกน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ คือ การเลือกให้ถูกชนิดความหนืดและระดับคุณภาพโดยต้องสอดคล้องกับความต้องการของเครื่องยนต์ และพิจารณาควบคู่กับสภาพเครื่องยนต์ สภาวะแวดล้อมและสภาวะการใช้งาน รวมถึงชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ โดยผู้ผลิตรถยนต์จะกำหนดไว้ในคู่มือรถ

น้ำมันเครื่องมีความสำคัญในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ หลายคนเลือกซื้อจากยี่ห้อดัง ราคาแพง การโฆษณาที่จูงใจ หรือมีการลดแลกแจกแถม ส่วนจะใช้ความหนืดเบอร์อะไร ชั้นคุณภาพอย่างไร ขึ้นอยู่กับศูนย์บริการหรือผู้ขายจะเสนอให้ ที่ผ่านมาคุณภาพของน้ำมันเครื่องจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคจึงควรติดตามข่าวสารความรู้ เพื่อเลือกใช้น้ำมันเครื่องได้อย่างเหมาะสม

การพิจารณาสภาพของเครื่องยนต์ต้องคำนึงถึงรุ่นปีที่ผลิตเครื่องยนต์ เนื่องจากการพัฒนาน้ำมันเครื่องจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องและรองรับการพัฒนาเครื่องยนต์ในแต่ละรุ่นด้วย ความคับหลวมของกลไกและชิ้นส่วนต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดมากขึ้น อีกทั้งสภาพการใช้งานของรถยนต์ที่ต้องวิ่งในที่จราจรแออัด วิ่งๆ หยุดๆ เร่งเครื่องขึ้นลงตลอดเวลา หรือบรรทุกของหนัก ก็ย่อมต้องการน้ำมันเครื่องที่สามารถรับแรงกดและอุณหภูมิที่สูงขึ้นนอกจากนี้ยังต้องสามารถทำปฏิกิริยากับสิ่งที่หลงเหลือจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำ หรือ กรด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดกัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆ และเกิดสนิม เป็นต้น

          มาตรฐานของน้ำมันหล่อลื่นมีหลากหลายค่าย อาทิ มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (API)
มาตรฐานของผู้ผลิตยานยนต์ในทวีปยุโรป (ACEA) มาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น (JASO) และมาตรฐานเฉพาะของผู้ผลิตเครื่องยนต์แต่ละชนิด (OEM) แต่ที่ใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ มาตรฐาน API ทั้งนี้ ตามมาตรฐาน API ผู้ผลิตน้ำมันเครื่องสามารถยื่นขอเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (API Donut ) จาก API ได้ ซึ่งเมื่อ API ประกาศชั้นคุณภาพใหม่ (API Licensed) ก็จะยุติการรับรองสำหรับบางชั้นคุณภาพเดิม (API Non-Licensed) อย่างไรก็ตาม แม้ว่า API จะยุติการออกเครื่องหมายรับรองคุณภาพแล้ว ผู้ค้าน้ำมันยังคงจำหน่ายน้ำมันเครื่องตามชั้นคุณภาพดังกล่าวได้ จนกว่าความต้องการใช้ในตลาดจะหมดไป เนื่องจาก APIDONUT ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับ แต่สำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นการกำกับดูแลคุณภาพน้ำมันเครื่องทั้งหมดให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ น้ำมันเครื่องที่จำหน่ายในประเทศยังคงต้องได้รับความเห็นชอบ และแสดงเลขทะเบียน ธพ. บนฉลาก ตั้งแต่ API SC และ CC ขึ้นไป

น้ำมันหล่อลื่นตามมาตรฐาน API

น้ำมันเครื่องแต่ละชั้นคุณภาพจะถูกพัฒนามาให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์แต่ละรุ่น ดังต่อไปนี้

เครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน API ได้จำแนกชั้นคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ ไว้ทั้งหมด 12 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ SA , SB , SC , SD , SE , SF , SG , SH, SJ , SL , SM และล่าสุด SN

ชั้นคุณภาพเบนซิน ปีที่เริ่มใช้ และ คุณสมบัติการใช้งาน
SA สำหรับเครื่องยนต์รุ่นเก่าและสภาพงานเบา น้ำมันเครื่องชนิดนี้ไม่มีการเติมสารเติมแต่งและไม่ได้กำหนดการทดสอบทางเครื่องยนต์ไว้ ชั้นคุณภาพนี้ไม่แนะนำแล้วสำหรับเครื่องยนต์เบนซินปัจจุบัน
SB สำหรับเครื่องยนต์สภาพงานเบา ประกาศใช้ตั้งแต่ปี1930 มีสารเพิ่มคุณภาพเล็กน้อยในการป้องกันการสึกหรอ และการกัดกร่อน ชั้นคุณภาพนี้ไม่แนะนำแล้วสำหรับเครื่องยนต์เบนซินในปัจจุบัน
SC สำหรับเครื่องยนต์รุ่นปี ค.ศ. 1964 – 1967 เริ่มพัฒนาคุณสมบัติด้านการรักษาความสะอาด ป้องกันการสะสมของคราบเขม่า กระจายสิ่งสกปรก ป้องกันการสึกหรอ การเกิดสนิม และการกัดกร่อน
SD สำหรับเครื่องยนต์ปี ค.ศ. 1968 – 1970 และสำหรับปี 1971 บางรุ่น มีการเติมสารเติมแต่งมากกว่า SC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการรักษาความสะอาด ป้องกันการสะสมของคราบเขม่า กระจายสิ่งสกปรก ป้องกันการสึกหรอ การเกิดสนิม และการกัดกร่อน
SE สำหรับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 และ 1971 บางรุ่น มีการเติมสารเติมแต่งมากกว่า SC และ SD พัฒนาในด้านความต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจน (Antioxidation) เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันสนิม และการกัดกร่อน
SF สำหรับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ 1980 มีสารต้านทางการรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศคุณสมบัติการรักษาความสะอาด การป้องกันคราบสกปรก ต้านทานการสึกหรอได้ดีกว่า SE
SG สำหรับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ 1988 เป็นช่วงปีที่มีการพัฒนาอย่างชัดเจน เนื่องจากขณะนั้นเครื่องยนต์ถูกพัฒนาให้ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น การเผาไหม้จึงต้องสมบูรณ์ส่งผลให้อุณหภูมิเครื่องยนต์สูงขึ้น น้ำมันเครื่องจึงเสื่อมสภาพเร็ว ปัญหาที่พบคือการเกิดคราบเหนียว และตม ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องชั้นคุณภาพนี้ จึงต้องป้องกันการเกิดตม (Sludge) ได้ดี สารเติมแต่งต้องสามารถกระจายสิ่งสกปรก(Dispersancy) ต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจน และต้านทานการสึกหรอ
SH สำหรับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เริ่มเข้มงวดในเรื่องปริมาณธาตุฟอสฟอรัส (P) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสาร Antiwear และ Antioxidant แม้ว่าการพัฒนาสารเติมแต่งจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในด้านนี้ แต่ก็ต้องควบคุมปริมาณธาตุ P ไม่เกินร้อยละ0.12 โดยน้ำหนัก เนื่องจากธาตุ P จะไปขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ลดมลพิษในไอเสีย (Catalytic Convertor) ที่ติดตั้งมากับรถยนต์ตามมาตรฐานมลพิษโดยกำหนดเฉพาะน้ำมันเครื่องชนิดความหนืดใส ในขณะนั้น ได้แก่ SAE 5W-30 และ 10W-30 เนื่องจากน้ำมันใสจะมีโอกาสที่จะไหลลงไปเผาไหม้รวมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ง่ายกว่า และธาตุ P ก็จะปะปนออกมาทางท่อไอเสีย เข้าสู่อุปกรณ์กำจัดไอเสีย อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลดปริมาณ ธาตุ P มากเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพในด้านป้องกัน การสึกหรอ จึงได้กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ ไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 0.06 โดยน้ำหนัก
SJ สำหรับเครื่องยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 เป็นชั้นคุณภาพที่ผ่านการทดสอบทางเครื่องยนต์เช่นเดียวกับ SG และ SH แต่ควบคุมการสะสมของคราบสกปรกในอุณหภูมิสูงมากกว่าและควบคุมปริมาณธาตุ P เข้มงวดขึ้น ไม่เกินร้อยละ 0.10 โดยน้ำหนัก สำหรับชนิดความหนืดที่ใสขึ้น ได้แก่ SAE 0W-20 , 5W-20 , 5W-30 , 10W-30 จะสังเกตได้ว่าการพัฒนา ชนิดความหนืดของน้ำมันเครื่อง มีแนวโน้มที่ใสมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อการนำไปใช้กับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง
SL ประกาศใช้วันที่1 กรกฏาคม ค.ศ. 2001 (พ .ศ. 2544) มีการพัฒนาด้านการทำความสะอาดของเครื่องยนต์ เกณฑ์การทดสอบเข้มงวดขึ้น ด้านการสะสมคราบสกปรกในอุณหภูมิสูง เน้นการประหยัด และยืดอายุของน้ำมันเครื่อง ( Extended DrainInterval ) สำหรับการกำหนดปริมาณธาตุ P ยังคงเดิม เพราะหากลดไปมากกว่านี้จะมีปัญหาเรื่อง wear
SM ประกาศใช้วันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เป็นชั้นคุณภาพที่พัฒนาต่อมาจาก SL เพิ่มเติมการกำหนดค่ากำมะถัน ในด้านการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์กำจัดไอเสียเช่นกัน รวมทั้งพัฒนาคุณสมบัติด้านการระเหย การต้านทานการรวมตัวกับออกซิเจน และการป้องกันการสึกหรอ
SN ประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) พัฒนาต่อจาก SM โดยเพิ่มความสามารถด้านการชะล้าง ทำความสะอาดเครื่องยนต์ (Detergency) มีการประเมินผลการเกิดคราบเขม่าคาร์บอนสะสมที่ลูกสูบ (Weighted Piston Deposits)ที่เข้มงวดขึ้น ต้านทานการกระจายสิ่งสกปรก (Dispersancy) และเข้มงวดในการวัดค่าตมที่เกิดขึ้นในเครื่องยนต์
สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ที่ผ่านมา API ได้จำแนกชั้นคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลไว้ทั้งหมด 14 ชั้นคุณภาพ ได้แก่ CA , CB , CC , CD , CD-II , CE , CF , CF-2 , CF-4 , CG-4 , CH-4 , CI-4 , CI-4 PLUS และ CJ-4 ดังตารางต่อไปนี้
ชั้นคุณภาพดีเซล ปีที่เริ่มใช้ และ คุณสมบัติการใช้งาน
CA ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดา ปี ค.ศ. 1940 – 1950 สภาวะการทำงานเบาถึงปานกลาง มีการเติมสารเติมแต่งบ้างเล็กน้อย ชั้นคุณภาพนี้ ไม่แนะนำแล้วสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน
CB ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดา ปี ค.ศ.1949 – 1960 ภาวะการทำงานเบาถึงปานกลางมีการเติมสารเติมแต่งบ้างเล็กน้อย เพื่อป้องกันการกัดกร่อน มีสารชะล้าง และกระจายตะกอน ชั้นคุณภาพนี้ไม่แนะนำแล้วสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน
CC ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดา หรือที่ติดระบบเพิ่มแรงอัดอากาศ ซูเปอร์ชาร์จเทอร์โบชาร์จ ปี ค.ศ. 1961 ใช้กับทุกสภาวะการทำ งาน ปานกลาง ถึงหนักได้มีคุณสมบัติป้องกันสนิม และคุณสมบัติด้านอื่นๆ ดีขึ้นเล็กน้อย
CD ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 ในสภาวะการทำงานหนัก ความเร็วรอบสูงขึ้น และสามารถใช้กับน้ำมันดีเซลที่มีค่ากำมะถันสูงได้ น้ำมันเครื่องจึงต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติด้านการป้องกันคราบสกปรก ชะล้าง และกระจายเขม่าได้ดี รวมทั้งป้องกันการสึกหรอ และการกัดกร่อน
CD II สมรรถนะเทียบเท่า CD แต่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลสองจังหวะ ประกาศปี ค.ศ. 1987
CE ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลปี ค.ศ. 1983 น้ำมันเครื่องชั้นคุณภาพนี้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ที่มีกำลังมากขึ้น อาจติดซูเปอร์ชารจ์ หรือเทอร์โบชาร์จ สภาพการทำงานหนัก ภายใต้ความเร็วรอบต่ำ ภาระสูง (high load) โดยเพิ่มคุณสมบัติการรวมตัวกับออกซิเจน ป้องกันการเกิดคราบเขม่า ลดการสึกหรอ และเพิ่มการทดสอบกับเครื่องยนต์หนัก อาทิ Catterpilla , Mack และ Cummins
CF-4 ประกาศใช้ปี ค.ศ.1990 พัฒนาขึ้นแทนชั้นคุณภาพ CE เน้นสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีความเร็วรอบสูง บรรทุกหนัก และวิ่งระยะไกล มีคุณสมบัติพิเศษในการควบคุมความสิ้นเปลืองของน้ำมันเครื่อง และควบคุมคราบสกปรกที่ลูกสูบเข้มงวดกว่า CE แต่ API ก็ได้ยุติการออกเครื่องหมายรับรองสำหรับชั้นคุณภาพนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) เนื่องจากสามารถใช้น้ำมันเครื่องชั้นคุณภาพที่สูงกว่าแทนได้
CF-2 ประกาศใช้ปี ค. ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ใช้แทน CD II สำ หรับเครื่องยนต์ดีเซล 2 จังหวะ ที่ใช้งานทั่วไป สามารถป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนในกระบอกสูบ แหวนลูกสูบ ป้องกันการเกิดคราบสกปรกได้ดี ปัจจุบัน API ได้ยุติการออกเครื่องหมายรับรองสำหรับชั้นคุณภาพนี้แล้ว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากเครื่องยนต์Detroit Diesel 6V – 92T และอะไหล่ชิ้นส่วนที่ใช้ทดสอบ จัดหาได้ยากขึ้น
CF ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) เพื่อทดแทน CD โดยสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลทีมีห้องเผาไหม้แบบ Indirect Injection เครื่องยนต์ดีเซลธรรมดาติดเทอร์โบชาร์จ หรือซูเปอร์ชารจ์ และสามารถใช้ได้กับน้ำมันดีเซล ทั้งที่มีค่ากำมะถันต่ำ และสูงกว่าร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก มีคุณสมบัติควบคุมการเกิดคราบสกปรกที่ลูกสูบ ป้องกันการสึกหรอ และการกัดกร่อนของแบริ่งได้ดี โดยเฉพาะแบริ่งที่มีทองแดงผสมอยู่ ทั้งนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 API จะยุติการออกเครื่องหมายรับรองสำหรับชั้นคุณภาพนี้ เนื่องจากเครื่องยนต์ Catterpilla 1 M–PC และอะไหล่ชิ้นส่วนที่ใช้ทดสอบ จัดหาได้ยากขึ้น
CG-4 ประกาศใช้ปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้งานหนัก ความเร็วรอบสูง สามารถใช้กับน้ำมันดีเซลที่มีค่ากำมะถันสูง มีคุณสมบัติลดคราบสกปรกที่ลูกสูบเมื่อใช้งานที่อุณหภูมิสูง ป้องกันการสึกหรอ และกัดกร่อน ป้องกันการรวมตัวกับออกซิเจน และควบคุมการสะสมของเขม่า น้ำมันเครื่องชั้นคุณภาพนี้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานมลพิษไอเสียปี ค.ศ. 1994 สามารถใช้แทน CD, CE, และ CF-4 ได้ แต่ปัจจุบัน API ได้ยุติการออกเครื่องหมายรับรองสำหรับชั้นคุณภาพนี้แล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
CH-4 ประกาศใช้เดือนธันวาคม ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) สามารถใช้กับน้ำมันดีเซลที่มีค่ากำมะถันสูง เพิ่มประสิทธิภาพจาก CG-4 ในด้านการควบคุมการกระจายเขม่า ลดคราบสกปรกที่ลูกสูบเมื่อใช้งานที่อุณหภูมิสูง น้ำมันชั้นคุณภาพนี้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานมลพิษไอเสียปี ค.ศ. 1998 สามารถใช้แทนน้ำมันมาตรฐานCD, CE, CF-4 และ CG-4 ที่ API Non-Licensed ได้
CI-4 ประกาศใช้วันที่ 5 กันยายน ค.ศ.2002 (พ.ศ. 2545) น้ำมันเครื่อง ชั้นคุณภาพนี้ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมรับมาตรฐานมลพิษ ปี ค.ศ. 2004 เนื่องจากสถาบันสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา (EPA) ได้กำหนดมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดขึ้น โดยลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ลงครึ่งหนึ่งจากปี ค.ศ. 1998 ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้อง ติดตั้งระบบกำจัดไอเสีย EGR (Exhaust Gas Recirculation) ซึ่งเป็นระบบที่นำไอเสีย ไปหมุนเวียนใหม่ เพื่อลดส่วนผสมระหว่างอากาศ และไอดี เพื่อลดปริมาณออกซิเจนและอุณหภูมิการเผาไหม้ลง ส่งผลให้การรวมตัวระหว่างไนโตรเจน และออกซิเจนลดลงด้วย แต่การนำไอเสียมาหมุนเวียนใหม่ เป็นการนำความร้อนเข้าสู่ระบบ ทำให้น้ำมันเครื่องมีอุณหภูมิสูงขึ้น เขม่าสะสมมากขึ้น และเสื่อมสภาพเร็ว ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงคุณสมบัติด้านการชะล้าง ทำความสะอาด รักษาความสะอาดบริเวณลูกสูบ และร่องแหวน ให้ดีขึ้น ควบคุมการกระจายเขม่า นอกจากนี้ยังต้องสามารถต้านกรดที่เกิดจากกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างเพียงพอ จึงจะป้องกันการกัดกร่อนได้ รวมทั้งป้องกันการสึกหรอที่เกิดจากการขัดสีบริเวณชุดขับเคลื่อนวาล์ว (Valve train) มีเสถียรภาพต่ออุณหภูมิการใช้งาน ทั้งสูงมากและต่ำมาก ทั้งคงความหนืดได้ดีตลอดอายุการใช้งาน
CI-4 PLUS ประกาศใช้เดือนกันยายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ.2547) เหมาะกับเครื่องยนต์ที่ติดตั้ง EGR เช่นเดียวกัน CI-4 ต่ปรับปรุงในเรื่องการกระจายเขม่า และต้านทานการเพิ่มขึ้นของความหนืด
CJ-4 ประกาศใช้เดือนกันยายน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) มีการกำหนดอัตราสูงต่ำของปริมาณธาตุกำมะถัน S ธาตุฟอสฟอรัส P และปริมาณเถ้า เพิ่มเติม เพื่อปกป้องอุปกรณ์กำจัดมลพิษที่ติดตั้งมากับยานยนต์ เพื่อรองรับมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวดขึ้น

         

จะเห็นได้ว่า น้ำมันเครื่องแต่ละชั้นคุณภาพมีคุณสมบัติการใช้งานต่างกัน น้ำมันหล่อลื่นที่มีชั้นคุณภาพสูงไม่ใช่ว่าจะเหมาะสมกับรถเสมอไป รถเก่าที่ใช้งานมานาน รถที่เครื่องยนต์ไม่แรง ความเร็วรอบไม่สูงมาก หากไปเลือกน้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพสูงๆ ราคาก็จะแพงขึ้น เป็นการเสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็นเช่นกันดังนั้น ผู้ใช้รถจะต้องพิจารณาเลือกใช้ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ขั้นคุณภาพของน้ำมันเครื่องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดัน ได้แก่มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ นอกจากนี้การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก็มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณสมบัติของน้ำมันเครื่อง

3.2 สาเหตุที่ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพ

รถยนต์ต้องอาศัยเชื้อเพลิงเป็นพลังงาน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีการหล่อลื่นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ โดยทั่วไปน้ำมันหล่อลื่นมีหน้าที่หล่อลื่นชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ และมีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มช่วยไม่ให้เกิดการเสียดสีโดยตรง โดยเฉพาะถ้าเครื่องยนต์ยิ่งเร่งยิ่งเกิดการเสียดสี และสึกหรอมากขึ้น น้ำมันหล่อลื่นจะเป็นตัวช่วยลดการเสียดสีและสึกหรอนั้น ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังมีผลต่อเนื่องช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย นอกจากนี้จากการที่น้ำมันหล่อลื่นสามารถไหลผ่านหมุนเวียน
ไปตามจุดต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ ยังเป็นการช่วยระบายความร้อน ช่วยทำความสะอาดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์และยังสามารถอุดช่องว่างระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ป้องกันการรั่วซึมของก๊าซไม่ให้ความดันรั่วไหลทำให้เครื่องยนต์มีกำลังเต็มที่ถึงแม้จะใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพสูงเท่าใดก็ตาม ก็ยังต้องเปลี่ยนถ่ายเมื่อถึงกำหนดเวลาเพราะน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดถูกออกแบบและผลิตมา เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งคุณภาพของน้ำมันเครื่องก็จะเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหมาะกับการใช้งาน โดยมี
จากหลายสาเหตุ ดังนี้

(1) การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของน้ำมันเครื่อง แม้ว่าในน้ำมันจะมีการเติมสารเพิ่ม
คุณภาพป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นอยู่แล้ว แต่หากสารนี้ถูกใช้หมดไปหรือเสื่อมสภาพ น้ำมันก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วเกิดเป็นสารประเภทกรดและคราบยางเหนียว ปฏิกิริยานี้จะเกิดได้เร็วถ้าอุณหภูมิสูง น้ำมันเครื่องจะเสื่อมสภาพ เกิดความเป็นกรด ความหนืดเพิ่ม เกิดยางเหนียว และในที่สุดเกิดการกัดกร่อนเนื้อโลหะในเครื่องยนต์

(2) สารเพิ่มคุณภาพถูกใช้หมดไปหรือเสื่อมสภาพ เมื่อมีการใช้น้ำมันเครื่องเป็นเวลานานสารเพิ่มคุณภาพจะถูกใช้หมดไป หรือเสื่อมสภาพ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนเป็นสารอื่นที่ไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพนั้นอีกต่อไป ทำให้น้ำมันเครื่องไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะทำงานได้ดีอีกต่อไป

(3) มีสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในระบบ ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเช่น เมื่อมีน้ำปนเปื้อน อนุภาคของน้ำจะเข้าไปแทรกตัวในเนื้อน้ำมัน จะทำให้น้ำมันหล่อลื่นมีลักษณะขาวขุ่นความหนืดจะเปลี่ยนไปจนไม่เหมาะสมที่จะใช้งาน หรือมีเศษโลหะปนอยู่ในน้ำมันเป็นจำนวนมาก เศษโลหะจะไปขูดกับผิวโลหะของเครื่องจักร ทำให้เกิดการสึกหรอได้ หรือน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปปนเปื้อนในน้ำมันเครื่อง จะทำให้ความหนืดของน้ำมันเครื่องลดลง ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้งานอีกต่อไป

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเพื่อเอาสิ่งสกปรกออกและเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากเครื่องยนต์ไปในตัว เพื่อช่วยปกป้องรักษาเครื่องยนต์ และยืดอายุการทำงานของเครื่องยนต์ให้ยาวนานขึ้น ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น ขึ้นอยู่กับลักษณะและสภาพของเครื่องยนต์ รวมทั้งลักษณะของงานที่ใช้หรือการใช้รถของผู้ขับขี่ โดยทั่วไปควรพยายามปฏิบัติตามหนังสือคู่มือรถ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งควรตรวจสอบดูระดับน้ำมันหล่อลื่นและเติมอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะถ้ามีปริมาณน้ำมันหล่อลื่นไม่เพียงพอการทำงานก็จะไม่เต็มที่และทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้เช่นกัน

3.3 ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง

          เนื่องจากผู้ขับขี่รถยนต์ต้องการให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดการใช้งาน จึงต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ระบุไว้ในคู่มือประจำรถ ซึ่งจะระบุชนิดความหนืด มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ รวมถึงระยะในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไว้ ปัจจุบันน้ำมันเครื่อง ได้มีการพัฒนาคุณภาพด้านการใช้งานให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล โดยผสมสารเพิ่มคุณภาพซึ่งได้จากสารสังเคราะห์หลายชนิด ให้เหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์ และมีอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้น น้ำมันเครื่องจึงมีหลายชนิด หลายระดับคุณภาพ ซึ่งมีปริมาณสารเพิ่มคุณภาพที่ใช้แตกต่างกันและรักษาคุณสมบัติที่ดีของน้ำมันเครื่องไว้ได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบทั่วไปที่สามารถใช้ในการตัดสินใจในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คือ ระยะทางและเวลา (ขึ้นอยู่ว่าสิ่งใดครบกำหนดก่อน) รวมทั้งสภาพการใช้งาน ดังนี้

(1) ระยะทาง เกี่ยวข้องกับชนิดของน้ำ มันเครื่องเป็นหลัก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น น้ำมันเครื่องธรรมดากำหนดการเปลี่ยนถ่าย 7,000-7,500 กิโลเมตร น้ำมันเครื่องกึ่ง
สังเคราะห์ 10,000-15,000 กิโลเมตร และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 15,000-20,000 กิโลเมตร

(2) ระยะเวลา
รถยนต์บางคันจอดรถทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ มากกว่าใช้งานน้ำมันเครื่องสามารถเสื่อมสภาพลงได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายตามระยะเวลา แม้ระยะทางยังไม่
ครบกำหนด เพื่อให้รถสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดการใช้งาน น้ำมันเครื่องธรรมดากำหนดเปลี่ยนทุก 6 เดือน น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ 6-9 เดือน และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ประมาณ 1 ปี

(3) สภาพการใช้งาน
ส่งผลโดยตรงและเกี่ยวข้องกับระยะทาง / ระยะเวลาที่ใช้น้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถในสภาพการจราจรที่ติดขัด หรือเส้นทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น และรถที่ใช้งานหนักกว่าปกติ เช่น ขับรถระยะสั้นๆ เป็นประจำ บรรทุกของหนักมาก การขับรถลุยสายฝน หรือขับรถลุยน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือเครื่องยนต์ที่ต้องการความเร็วสูงสุด เช่น รถแข่ง ซึ่งต้องมั่นใจว่าคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องต้องไม่ลดลง ควรจะต้องเปลี่ยนถ่ายก่อนระยะทาง หรือเร็วกว่าเวลาที่กำหนด

และหากใช้เครื่องยนต์ที่การดัดแปลงมาใช้ก๊าซธรรมชาติอัดหรือก๊าซหุงต้ม การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องควรจะลดลงจากที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้เช่นกัน เนื่องจากอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เหล่านี้ จะสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไป

          สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ควรตรวจสอบดูระดับน้ำมันเครื่องอย่างสม่ำเสมอด้วย แม้ว่าน้ำมันเครื่องจะมีประสิทธิภาพในการหล่อลื่นเพียงใดก็ตาม แต่ถ้ามีปริมาณไม่มากพอ การทำงานก็จะไม่เต็มที่ทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้เช่นกัน ดังนั้น ควรตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอแล้วเติมให้เพียงพอ และควรเลือกซื้อน้ำมันเครื่องในขนาดบรรจุพอเหมาะกับความจุห้องน้ำมันเครื่อง เพราะถ้ามีน้ำมันเครื่องเหลือมากเก็บรักษาไว้ไม่ดี เช่น ปิดฝาไม่สนิท ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพลงได้

เปอร์ตามิน่า น้ำมันเครื่องระดับโลก