ในภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งมีความต้องการให้เครื่องจักรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการซ่องบำรุง และลดอัตราการหยุดเดินของเครื่องจักร ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์และสามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งได้ หรือเพื่อต้องการกำไรที่มากขึ้น ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักจะสอบถามมายังผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นให้ช่วยแนะนำสารหล่อลื่นที่จะช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดคือ “การเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นที่ถูกต้อง” การเลือกผลิตภัณฑ์หล่อลื่นให้เหมาะสมกับโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่หลากหลายและมีความแตกต่างกันแล้ว น้ำมันอุตสาหกรรมแต่ละชนิดก็อาจจะมีข้อกำหนดและมาตรฐานที่ต้องการที่แตกต่างกันออกไปได้อีกด้วย เริ่มพิจารณาจากลักษณะการใช้งาน
บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นได้ดำเนินการพัฒนาสูตรตามความต้องการของลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละกลุ่มแต่ละรายเป็นการเฉพาะ โดยที่จะมีคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องการโดยทั่วไป ที่น้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรมทุกชนิดควรจะต้องมี ได้แก่ ลดแรงเสียดทาน ป้องกันการสึกหรอ ป้องกันการกัดกร่อน ระบายความร้อน และไม่ทำปฏิกิริยากับซีล และเนื่องจากลักษณะการใช้งานที่มีความหลากหลายมาก ทำให้น้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะจุด
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง
1.ชนิดของเครื่องจักร
เครื่องจักรต่างชนิดกันจะมีลักษณะการทำงานที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องการคุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่นแตกต่างกันออกไปด้วย สูตรน้ำมันที่เหมาะสมก็จะต่างกัน เช่น ระบบไฮดรอลิคส่งกำลังมีความต้องการน้ำมันที่มีสารเพิ่มคุณภาพชนิดป้องการการสึกหรอ (Antiwear) เพื่อป้องกันการสึกหรอที่มักจะเกิดที่ปั๊มไฮดรอลิค, ระบบเกียร์ ต้องการน้ำมันที่มีสารเพิ่มคุณภาพชนิดรับแรงกด (Extreme Pressure, EP) เพื่อทำหน้าที่ปกป้องฟันเกียร์จากการสึกหรอ ควรระลึกไว้เสมอว่า การเลือกน้ำมันหล่อลื่นผิดประเภทเครื่องจักร อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้
2.ความหนืด
การเลือกเบอร์ความหนืดของน้ำมันให้เหมาะสมกับการทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการจะทราบว่าต้องใช้ความหนืดเท่าไรจึงจะเหมาะสม จำเป็นต้องได้รับข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้
- ความเร็วรอบของเครื่องจักร (คงที่หรือไม่คงที่)
- ภาระงาน แรงกดทับ (Load)
- อุณหภูมิที่ใช้งาน
น้ำมันหล่อลื่นเบอร์ความหนืดสูงๆ จะเหมาะสำหรับการทำงานของเครื่องจักรในสภาวะที่ความเร็วรอบต่ำ และมีภาระงานหนัก ในขณะที่น้ำมันหล่อลื่นเบอร์ความหนืดต่ำๆ จะเหมาะสำหรับการทำงานของเครื่องจักรในสภาวะที่มีความความเร็วรอบสูง และมีภาระงานเบา
3.มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ
เครื่องจักรกลต่างประเภท ต่างผู้ผลิต ต่างรุ่นกัน อาจมีมาตรฐานที่ต้องการที่แตกต่างกัน การเลือกน้ำมันอุตสาหกรรมที่ตรงตามมาตรฐานที่เครื่องจักรต้องการ จะทำให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างมีประสิทธภาพสูงสุด
อ้างอิงจาก www.magpieindustry.co.th