โดยทั่วไปแล้วเครื่องจักรย่อมต้องมีความเสียหายจากการใช้งานเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยความเสียหายนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. ความเสียหายของระบบทางกลการแตกหัก ร้าว ยึดตัว
2. ความเสียหายของระบบทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฉนวนเสื่อมสภาพ ลัดวงจรการสูญเสียทางไฟฟ้า
3. การเสื่อมสภาพทางเคมี สารหล่อลื่นเสื่อมสภาพ การเกิดกัดกร่อน ปฏิกิริยาการแลกเปลี่ยนประจุคุณสมบัติกรดและด่างเปลี่ยนไป
การตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน (Oil Quality Inspection) เพราะน้ำมันหล่อลื่นเปรียบเสมือนเลือดที่สูบฉีดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเครื่องจักร ซึ่งการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันจะสามารถบ่งชี้สมรรถนะและสภาพของเครื่องจักร เพื่อเพิ่มความพร้อมในการใช้งานของเครื่องจักร และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่เกิดจากน้ำมันหล่อลื่น ความสูญเสียโอกาสจากการหยุดเดินเครื่องของเครื่องจักร และอื่นๆ
การตรวจวิเคราะห์น้ำมันหลังการใช้งาน (Used Oil Analysis) สามารถบอกถึงสมรรถนะ หรือสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ สภาวะการสึกหรอ การเสื่อมสภาพของน้ำมันหล่อลื่นและสิ่งสกปรกปนเปื้อนต่างๆ โดยช่างซ่อมบำรุงหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำการเก็บตัวอย่างน้ำมัน เพื่อตรวจสอบหาคุณสมบัติของสารหล่อลื่นและทำการวิเคราะห์เศษโลหะ เพื่อหาสาเหตุของความเสียหายและระดับความรุนแรง ซึ่งการตรวจวิเคราะห์น้ำมันหลังการใช้งานจะทำให้สามารถใช้น้ำมันได้อย่างคุ้มค่าเครื่องจักรมีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้นสามารถลดต้นทุนโดยรวมของเครื่องจักรได้