จำนวน 36 คำถาม “น้ำมันเครื่อง” กองบรรณาธิการตั้งใจให้ตรงกับจำนวนอายุนิตยสารครับ จำนวนคำถามที่ผมคิดว่าเหมาะ หรือควรรู้นั้นไม่มากขนาดนี้ (ถ้าหากว่าอายุของนิตยสารเกือบ 100 ปี คงหาคำถามกันเหนื่อย) แต่เรื่องเกี่ยวกับความรู้ เกินไว้ดีกว่าขาดแน่นอนครับ
1. น้ำมันเครื่อง คือ อะไร ?
ดูเหมือนว่าไม่น่าจะตั้งเป็นคำถาม แต่นั่นเฉพาะผู้ที่คุ้นเคยกับรถเท่านั้น สำหรับผู้ที่เพิ่งใช้รถ ไม่เคยสนใจเทคนิครถยนต์มาก่อน ต้องคิดว่าเป็นคำถามที่ดีครับ
น้ำมันเครื่อง คือ สารหล่อหลื่น อยู่ในสถานะของเหลว ทำหน้าที่หลัก คือ คั่นอยู่ระหว่างผิวของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ไม่ให้ผิวทั้งสองฝั่งสัมผัสกัน หรือไม่ก็ลดพื้นที่สัมผัสให้น้อยที่สุด และลดแรงกดระหว่างหน้าสัมผัสให้น้อยลงด้วย นี่เป็นหน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดครับ ยังมีระดับรองลงมา ที่สำคัญไม่น้อย คือ การทำหน้าที่ระบายความร้อนของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ โดยเฉพาะลูกสูบและแหวนลูกสูบ น้ำมันเครื่องที่ฟุ้งไปเกาะด้านล่างของหัวลูกสูบ หรืออาจถูกฉีดใส่โดยตรง จะพาความร้อนของลูกสูบมาระบายที่อ่างน้ำมันเครื่อง หรือที่รังผึ้งระบายความร้อนน้ำมันเครื่อง (ถ้ารถนั้นมี) หากต้องการให้ข้อมูลแบบเคร่งจริงๆ การบอกว่าเครื่องยนต์ใดระบายความร้อนด้วยน้ำหรืออากาศนั้น ยังไม่เพียงพอครับ ต้องบอกว่าระบายความร้อนด้วยน้ำและน้ำมันเครื่อง หรือระบายความร้อนด้วยอากาศและน้ำมันเครื่อง โดยเฉพาะประเภทหลังนี่ น้ำมันเครื่องมีส่วนในหน้าที่นี้สูงมาก นอกจากนี้ น้ำมันเครื่องยังทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ป้องกันการเกิดสนิมหรือการกัดกร่อน ละลายเขม่าจากชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ ฯลฯ
2. ความหมายของน้ำมันเครื่อง ธรรมดา กึ่งสังเคราะห์ และสังเคราะห์ ?
เป็นการแบ่งในทางพาณิชย์ของผู้ค้าน้ำมันในประเทศเรานะครับ ถ้าเราดูที่ส่วนผสมหลักของน้ำมันเครื่อง ก็จะมีส่วนผสมอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (BASE OIL) และสารเพิ่มคุณสมบัติ (ADDITIVES) แรกเริ่มเดิมทีคือ ตั้งแต่มีการผลิตน้ำมันเครื่องจนถึงเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่นำมาทำน้ำมันเครื่องรถยนต์ ได้มาจากน้ำมันดิบใต้ดินหรือน้ำมันแร่เท่านั้น แต่เนื่องจากน้ำมันนี้มีจุดอ่อนที่อุณหภูมิต่ำมาก (เช่น ต่ำกว่าลบ 10 องศาเซลเซียส) และสูงมาก เช่น เกิน 120 องศาเซลเซียส ในอ่างน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ โดยจะ “ข้น” เกินไปในสภาพเย็นจัด และ “ใส” เกินไป (ความข้นไม่เพียงพอนะครับ ไม่ใช่โปร่งใส) ในสภาพร้อนจัด ซึ่งเป็นจุดอ่อนตามธรรมชาติของน้ำมันแร่ที่เอามาใช้เป็นน้ำมันพื้นฐานในการผลิตน้ำมันเครื่อง จึงมีการแก้จุดด้อยข้อนี้ โดยการสังเคราะห์น้ำมันพื้นฐานในการผลิตน้ำมันเครื่องขึ้นมา ซึ่งที่จริงมีการใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ใช้กับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน
น้ำมันพื้นฐานที่ได้มาจากน้ำมันแร่ มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ไฮโดรเจน และคาร์บอน จับตัวกันแบบต่างๆ มากมายครับ จึงมีขนาด และชนิดของโมเลกุลสะเปะสะปะ สั้นบ้างยาวบ้างแตกกิ่งก้านออกไปหลายแบบ เพราะที่มาดั้งเดิมคือ ซากพืชที่ตายทับถมกันอยู่ใต้ชั้นดินตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ โมเลกุลบางแบบก็เหมาะแก่คุณสมบัติที่ต้องการในน้ำมันเครื่อง บางแบบก็ตรงกันข้าม นักวิทยาศาสตร์และนักเคมีก็เลยสังเคราะห์น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานขึ้นให้มันมีแต่โมเลกุลรูปร่างและขนาดอันพึงประสงค์ล้วนๆ เพื่อการเป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ดีแล้วจึงเอาไปเติมด้วยสารเพิ่มคุณสมบัติเพื่อให้เป็นน้ำมันเครื่องคุณภาพระดับสูงสุดที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้”
ในความเห็นผมไม่มีน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ และก็ไม่มีน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ด้วย มีแต่น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (ที่ใช้น้ำมันพื้นฐานคุณสมบัติและที่มาตามที่กล่าวมาแล้ว) และน้ำมันเครื่องที่ “ไม่ใช่น้ำมันเครื่องสังเคราะห์” เท่านั้น ไม่มีกึ่งสังเคราะห์ ไม่มีเกือบสังเคราะห์แท้ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพ ดูตัวอย่างเนื้อภาชนะก็ได้ครับ ถ้าเราเรียกว่า ภาชนะเนื้อกระเบื้องจากดินเผา ก็ต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่ต้องเอาวัสดุอื่นมาแอบอ้างให้งง ว่าแข็งเกือบเท่า มีแต่ใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น
คำว่า “กึ่ง” บ่งบอกว่าประมาณครึ่งหรือเป็นก็ได้ไม่เป็นก็ได้ มันไม่มีความครึ่งๆ กลางๆ หรือเป็นก็ได้ไม่เป็นก็ได้ ในน้ำมันเครื่อง “กึ่งสังเคราะห์” ที่เรียกกัน ชาวต่างชาติก็เรียกด้วยครับ โดยใช้คำว่า SEMI เพราะผู้ผลิตชาวต่างชาติก็หิวเงินเหมือนกันทั่วโลก การหาเงินจากสินค้าอย่างง่ายที่สุด คือ จากความไม่รู้เรื่อง ความไม่เข้าใจ การขาดข้อมูลให้ศึกษาของลูกค้านี่แหละครับ ไม่มีใครกล่าวหาหรือ “เอาเรื่องได้” เพราะสารเพิ่มคุณสมบัติ (ADDITIVES) ก็เป็นสารเคมีที่พอเรียกได้ว่าเป็นสารสังเคราะห์ ผสมเข้ากับน้ำมันพื้นฐาน (BASE OIL) ก็พอทำเป็นโง่หน่อย เรียกมันว่า น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ได้แล้ว
หากจะให้ตั้งชื่อให้ถูกต้อง มีความจริงใจ ซื่อตรงต่อลูกค้าแล้วต้องไม่ใช่ชื่อ “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้” (FULLY SYNTHETIC) และ “น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์” (SEMI SYNTHETIC, SYNTHETIC BLEND) ต้องมีแต่ น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (SYNTHETIC MOTOR OIL) และน้ำมันเครื่อง “ธรรมดา” (CONVENTIONAL MOTOR OIL) หรือ น้ำมันเครื่องไม่สังเคราะห์ (NON-SYNTHETIC MOTOR OIL) เท่านั้น
3. เกรดของน้ำมันเครื่อง คือ อะไร และแบ่งแยกอย่างไร ?
เกรดของน้ำมันเครื่อง คือ ระดับความข้นหรือ “ความหนืด” (VISCOSITY) ของน้ำมันเครื่อง แบ่งตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสมาคมวิศวกรยานยนต์ (SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS) หรือภายใต้อักษรย่อ SAE ชื่อฟังดูแล้วเป็นกลาง แต่เป็นสมาคมของสหรัฐอเมริกาครับ โดยใช้ตัวเลขที่จำง่าย บอกค่าความข้น หรือความหนืด เช่น 10-20-30 ไปจนถึง 60 วัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิของน้ำมันเครื่องภายในเครื่องยนต์ เมื่อถูกใช้งานตามปกติ ตัวเลขยิ่งมีค่ามาก หมายถึงความหนืดยิ่งสูงครับ แต่เครื่องยนต์ในประเทศอื่นไม่ได้ทำงานในดินฟ้าอากาศเหมือนประเทศเรา
ในหลายประเทศต้องถูกสตาร์ทที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำ (0 องศาเซลเซียส) น้ำมันเครื่องค่าความหนืดระดับ 30 ขึ้นไป จะข้นมากจนไม่สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงผิวชิ้นส่วนที่เสียดสีกันได้ทันเวลา เครื่องยนต์ต้องสึกหรอมาก หรือถึงขั้นชำรุดได้จึงต้องมีการกำหนดความข้นที่อุณหภูมิต่ำ สำหรับน้ำมันเครื่องที่ถูกใช้ในสภาพอากาศเย็นจัดไว้ด้วย โดยวัดความข้นที่อุณหภูมิต่ำ ตั้งแต่ ลบ 5 องศาเซลเซียส จนถึง ลบ 30 องศาเซียเซียส แล้วใช้พยัญชนะ W ตามหลังตัวเลข เช่น 20 W มีระดับความข้นปานกลางขณะเย็น วัดที่อุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส หรือ น้ำมัน OW ระดับความข้นต่ำมาก วัดที่อุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียส เป็นต้น ( W ย่อมาจาก WINTER)
4. น้ำมันเครื่อง โมโนเกรด หรือ เกรดเดี่ยว คือ อะไร ?
น้ำมันเครื่องที่วัดความข้นเพื่อจัดระดับที่อุณหภูมิเดียว เช่น SAE 30 (ความข้นปานกลาง วัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส) หรือ สำหรับใช้ในย่านอุณหภูมิอากาศต่ำ เช่น 10 W วัดเพื่อจัดระดับความข้นที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
5. น้ำมันเครื่องมัลทิเกรด หรือ เกรดรวม คือ อะไร ?
ถ้าดูจากตัวอย่างในข้อ 4. จะเข้าใจได้ง่ายครับ เพราะถ้าใช้น้ำมันเครื่อง SAE 30 การติดเครื่องยนต์ที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง อาจมีปัญหาน้ำมันเครื่องข้นเกินไป หรือการใช้น้ำมันเครื่อง SAE 10 W ในประเทศที่อากาศร้อน เช่น ประเทศไทย หรือย่านตะวันออกกลาง ที่อุณหภูมิน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์สูง เช่นมากกว่า 110 องศาเซลเซียส น้ำมันเครื่องจะเหลวหรือ “ใส” เกินไปจนผิวชิ้นส่วนเสียดสีกันรุนแรงได้ เราจึงอยากได้น้ำมันเครื่องที่ไม่ข้นเกินไปตอนเย็นจัด และไม่เหลวหรือ “ใส” ไปตอนร้อนจัด เช่นใสเท่าน้ำมัน SEA W 10 ที่ -10 องศาเซลเซียส และข้นเท่าน้ำมัน SAE 30 ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ก็จะแก้ปัญหาได้ทั้งสองย่านครับ น้ำมันเครื่องที่เข้าข่ายนี้ เราเรียกว่าน้ำมันเครื่อง มัลทิเกรดทำได้โดยเอาน้ำมันพื้นฐาน (BASE OIL) ความหนืดต่ำ มาใส่สารเคมี ให้มันลดความหนืดลงในอัตราที่น้อยมากเมื่อร้อนขึ้น
6. สัญลักษณ์ API ที่ภาชนะบรรจุน้ำมันเครื่อง คือ อะไร ?
ย่อมาจาก AMERICAN PETROLEUM INSTRTUT หรือ สถาบันการปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบทบาท และอิทธิพลด้านนี้มา ตั้งแต่ช่วง คศ. 1930 กำหนดระดับคุณภาพ และประเภทของน้ำมันเครื่อง โดยใช้พยัญชนะเป็นสัญลักษณ์ เช่น API SL API CI เป็นต้น
7. มีสัญลักษณ์อื่นๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกันนี้หรือไม่ ?
มีครับ เช่น มาตรฐาน AC EA (EUROPEAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION) JASO (JAPANESE AUTOMOBILE STANDARDS ORGANIATION)
8. อักษร S ต่อท้าย API หมายถึงอะไร ?
รหัสบ่งว่าน้ำมันเครื่องนั้นๆ เหมาะแก่เครื่องยนต์ เบนซินครับ ย่อมาจาก SERVICE STATIONS ซึ่งก็คือปั๊มน้ำมัน ซึ่งให้บริการรถเก๋ง และรถพิคอัพ ในสหรัฐ ฯ ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ล้วนใช้แต่เครื่องยนต์เบนซิน บางคนก็บอกว่าน่าจะมาจาก SPARK IGNITION ที่เครื่องเบนซินใช้ เลือกเชื่อกันตามใจชอบครับ เพราะบังเอิญตรงกับอักษร S เหมือนกัน เถียงกันแล้วเหนื่อยเปล่าๆ
9. ตัวอักษรหลัง S หมายถึงอะไร ?
ระดับคุณภาพของน้ำมันเครื่องครับ ซึ่งต้องพัฒนาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาเครื่องยนต์ และภาระเริ่มต้นตั้งแต่ A ไล่มาเรื่อยมีเว้นเป็นบางตัว ยิ่งอยู่ท้ายยิ่งคุณภาพสูงครับแต่ถ้าเป็นรถรุ่นเก่า อาจ “สูง” เกินไปจนให้โทษได้
10. ระดับคุณภาพสูงสุดตามมาตรฐาน API อยู่ที่อักษรใดแล้ว ?
SN ครับ
11. น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพระดับต้นๆ สำหรับเครื่องเบนซิน ยังถูกผลิตอยู่หรือไม่ เช่น API SB SC?
ไม่มีครับ โบราณ และคุณภาพต่ำเกินไป ถึงเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่ามากๆ ก็ไม่ต้องใช้คุณภาพต่ำขนาดนี้
12. อักษร C ต่อจาก API หมายถึงอะไร?
บ่งชี้ว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยในยุคเริ่มแรก ใช้กับรถในเชิงพาณิชย์เท่านั้น จึงใช้ตัวย่อจากคำว่า COMMERCIAL บางคนก็บอกว่า น่าจะมาจาก COMPRESSION IGNITION ก็พอไปได้เหมือนกันครับ
13. อักษรต่างๆ ต่อจาก API C หมายถึงอะไร ?
เช่นเดียวกับ ข้อ 9. ครับ แต่สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
14. ระดับคุณภาพสูงสุดของน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลคืออะไร ?
API CJ-4 ครับ
15. เลข 4 ที่ตามหลัง หมายถึงอะไร ?
น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล “หมุนเร็ว” (1,000 รตน. ขึ้นไป) แบบ 4 จังหวะ (4-STROKE) ครับ
16. น้ำมันเครื่องติดไฟ หรือลุกไหม้ได้หรือไม่ ?
ได้ครับ แต่ต้องให้ติดยากเข้าไว้ คือ ให้ทนร้อนได้มากที่สุด โดยยังไม่ระเหยเป็นไอ และลุกไหม้ได้
17. FLASH POINT ของน้ำมันเครื่องที่เราใช้ควรมีค่าเท่าใด ?
ยิ่งสูงยิ่งดีครับ ค่านี้ คือ อุณหภูมิต่ำสุดที่น้ำมันเครื่องระเหยเป็นไอ และพร้อมจะลุกไหม้ ไม่ควรต่ำกว่า 400 องศาฟาเรนไฮท์ หรือ 200 องศาเซลเซียส ครับ
18. ค่า TBN คือ อะไร ?
เป็นค่าบอกความเป็นด่างของน้ำมันเครื่อง เพราะเมื่อไอเสียทำปฏิกิริยากับน้ำมันเครื่อง โดยเฉพาะจากเชื้อเพลิงดีเซลที่มีกำมะถันปนอยู่ จะเกิดสภาพเป็นกรดขึ้น จึงต้องมีสารปรับคุณสมบัติที่ทำให้น้ำมันเครื่องมีความเป็นด่างไว้ สำหรับสะเทินกรด ไม่ให้มีโทษต่อเครื่องยนต์ ถ้าเปลี่ยนถ่าย ตามกำหนดไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ครับ
19. ในน้ำมันเครื่องมีน้ำอยู่ด้วยจริงหรือ ?
ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องใหม่ ก็อาจมีปนอยู่ตั้งแต่การกลั่น หรือตอนผสมสารเพิ่มคุณสมบัติครับ แต่ในปริมาณที่น้อยมาก ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องภายในเครื่องยนต์ที่ใช้งานอยู่ปกติ มีแน่ครับ เพราะการเผาไหม้ระหว่างเชื้อเพลิง และออกซิเจนในอากาศ จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ ถ้าห้องข้อเหวี่ยงยังไม่ร้อนพอไอเสียลอดแหวนลูกสูบลงมา ก็จะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำสะสมได้ครับ คือ เป็นเรื่องปกติ ยกเว้นมีการชำรุด เช่น ปะเก็นฝาสูบรั่ว จนน้ำจำนวนมากปนกับน้ำมันเครื่อง จนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน ขุ่นคล้ายกาแฟใส่นม ต้องรีบหยุดใช้งาน และซ่อมก่อนจะเสียหายหนักครับ
20. ตัวแปรที่มีผลโดยตรงต่อระยะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ?
ก. ใช้งานระยะสั้นมาก สตาร์ทเครื่องเย็นบ่อยครั้ง
ข. ใช้งานน้อย เช่น เดือนละ 100 กม. ต้องใช้ระยะเวลา แทนระยะทาง ในการเลือกกำหนดเปลี่ยนถ่ายครับ
ค. ใช้งานในการจราจรติดขัดเกือบทั้งหมด จำเป็นต้องลดระยะทางที่ผู้ผลิตกำหนดลงจากทุก 15,000 กม. เหลือสัก 10,000 กม. หรือต่ำกว่านี้เล็กน้อย
21. น้ำมันเครื่องเปลี่ยนเป็นสีเข้มจนเกือบดำ หลังการเปลี่ยนถ่ายไม่นาน ผิดปกติหรือไม่ ?
ไม่ผิดปกติครับ เป็นสัญญาณที่ดีว่าน่าจะเป็นของแท้ เพราะละลายเขม่าได้ดี ยกเว้นเครื่องเบนซินที่ใช้แกสเป็นเชื้อเพลิงหลัก (ทั้งแอลพีจีและซีเอนจี) เพราะเผาไหม้ได้หมดจดแทบไม่มีเขม่า กว่าจะดำอาจใช้ระยะทางถึง 5 เท่า
22. น้ำมันเครื่องมีวันหมดอายุหรือไม่ ?
มีครับ แต่ไม่ทราบแน่ว่านานขนาดไหน แต่มีการรับรองอย่างเป็นทางการว่า 5 ปี ถ้าอยู่ในภาชนะปิดผนึกอย่างดีจากต้นทาง ความชื้นเล็ดรอดเข้าไม่ได้ ถ้าเปิดแล้ว “ท่านว่า” ให้แค่ 1 ปี ไร้สาระครับ ขนาดเจอทั้งฝุ่น ทั้งเบนซิน เขม่า ไอน้ำในรถ มันยัง “ดี” อยู่เกินปีได้ ถ้าปิดผนึกก็ต้องเกิน 10 ปีแน่ ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ผมว่าไม่ต่ำกว่า 15 ปี ว่าแต่ใครจะสะสมจนมันเก่าขนาดนี้ครับ
23. น้ำมันเครื่องหายหรือพร่องไปด้วยสาเหตุใด ?
ส่วนใหญ่ลอดผ่านแหวนลูกสูบที่หลวม และถูกเผาไหม้ อีกส่วนลอดผ่านซีลก้านวาล์วไอดีไปเยิ้มและหยดที่หัววาล์ว เฉพาะถ้าซีลเสื่อมหรือชำรุด อีกส่วนน้อยมาก ระเหยเพราะถูกความร้อนสูงที่หัวลูกสูบ ส่วนที่บริเวณแหวนรองนอทถ่ายน้ำมันเครื่องที่เห็นหยดอยู่ใต้รถในโรงรถนั้น นับเป็นปริมาณที่น้อยมากครับ
24. หากเติมน้ำมันเครื่องเกิน มีผลอย่างไรกับเครื่องยนต์ ?
ถ้าเกินไปไม่มาก ไม่มีผลเสียครับ ไม่ต้องตกใจแล้วไปเหน็ดเหนื่อยหาทางเอาออก ขีดระดับต่ำสุดกับขีดระดับสูงสุดนั้น เป็นระดับราวๆ ไม่เกิน 1 ใน 4 ของน้ำมันเครื่องทั้งหมด เกินไปเท่านี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าเผลอเติมไปอีกชุด โดยเข้าใจว่ายังไม่ได้เติม แบบนี้ห้ามใช้งานจนกว่าจะถ่ายออกครับ
25. น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องเบนซิน ใช้ผสมกับน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องดีเซลได้หรือไม่ ?
ได้ครับ แต่คุณสมบัติดีบางด้านอาจลดลงบ้าง เช่น การชะล้างเขม่าในเครื่องดีเซล
26. ใช้น้ำมันเครื่องเบนซินกับเครื่องยนต์ดีเซลได้หรือไม่?
ได้ครับถ้ามีอักษร C อยู่หลังอักษร S ไม่นับอักษรบอกระดับคุณภาพ เช่น SM/CF และระดับคุณภาพถึงตามที่ผู้ผลิตรถกำหนด แต่ไม่แนะนำให้ทำครับ
27. ใช้น้ำมันเครื่องดีเซลกับเครื่องยนต์เบนซินได้หรือไม่ ?
ได้ครับ ถ้ามีการกำหนดเช่นเดียวกับข้อที่แล้ว แต่กลับกันหน้า-หลัง เช่น CJ-4/SL และมาตรฐานคุณภาพ (อักษร L ในตัวอย่าง) ไม่ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตรถกำหนด แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำครับ ไม่น่ามีปัญหาเรื่องนี้ในสมัยนี้แล้ว มีเวลาหาซื้อก่อนเปลี่ยนถ่ายเสมอครับ เพราะไม่ใช่กำหนดที่ต้องเคร่งครัด
28. น้ำมันเครื่องคนละตรา คนละค่าความหนืด หรือน้ำมันเครื่องสังเคราะห์กับกึ่งสังเคราะห์ ผสมกันใช้งานได้หรือไม่ ?
ได้ครับ แต่คุณภาพย่อมลดลง เพราะสัดส่วนสารเพิ่มคุณสมบัติไม่เหมาะสม ไม่มีปัญหาระดับน่ากังวล แต่ไม่ควรทำครับ ปัญหาเรื่องใช้น้ำมันเครื่องผสมกันนี้ ถ้าเป็นเครื่องสมรรถนะสูง เครื่องยนต์ปรับแต่งพิเศษเพื่อเพิ่มกำลัง ห้ามทำเด็ดขาดครับ ต้องใช้ชนิดเดียว คุณภาพสูง ค่าความหนืดสูงเพียงพอ เท่านั้นครับ
29. น้ำมันเครื่องทำลายสีรถหรือไม่ ?
ไม่ครับ แต่เวลาล้างออก ต้องใช้สารช่วยละลายน้ำมันที่ไม่ทำลายสีรถครับ เช่น แชมพูล้างรถคุณภาพสูง
30. ระยะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องธรรมดาเท่ากับ 5,000 กม. น้ำมันเครื่องสังเคราะห์เท่ากับ 10,000 กม. จริงหรือไม่ ?
ไม่จริงครับ ไม่ทราบว่าต้นกำเนิดความคิดนี้อยู่ที่ไหน ไร้สาระตั้งแต่ชนิดหลังใช้งานได้ 2 เท่าของชนิดแรกแล้วครับ เปลี่ยนถ่ายตามระยะทางหรือระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถกำหนดครับ สมัยนี้น้ำมันเครื่อง “ธรรมดา” ก็ใช้ 10,000 กม.ได้สบายมาก ตราบใดที่ระดับคุณภาพ API หรือ ACEA หรือ ฯลฯ ไม่ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตรถกำหนด
31. ถ้ามีเงิน ควรเลือกเติมน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % หรือไม่ ?
ถ้าผู้ผลิตกำหนดให้ใช้ เช่น รถสมรรถนะสูง คงไม่ต้องพูดถึงนะครับ นอกนั้นไม่จำเป็นครับ ยกเว้น มีความสุขที่ได้ใช้ของดีที่สุด แม้ไม่จำเป็นหรือพอใจเมื่อได้ใช้ของแพง สำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินให้คุ้มค่า ใช้น้ำมันธรรมดา หรือกึ่งสังเคราะห์ก็พอแล้วครับ ผู้ที่ทำสถิติใช้รถได้หลายแสนกิโลเมตรด้วยเครื่องยนต์เดิมในต่างประเทศ เกือบทุกรายใช้น้ำมันเครื่องธรรมดา เปลี่ยนถ่ายตามที่ผู้ผลิตกำหนด หรือก่อนเล็กน้อย วิธีขับและการบำรุงรักษาสำคัญกว่าน้ำมันเครื่องครับ
32. การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยๆ มีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ?
ถ้าบ่อยเกินไปไม่มีผลดีเลย ส่วนผลเสีย คือ เสียเวลาและเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เอาเงินไปใช้เรื่องเกี่ยวกับการบำรุรักษาอื่นๆ ดีกว่าครับ
33. น้ำมันเครื่องปลอมที่ระบาดอยู่ในท้องตลาด มีวิธีสังเกตอย่างไรบ้าง และถ้านำมาใช้ เครื่องยนต์จะเสียหายขนาดไหน ?
เรื่องนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมากครับ ต้องเป็นคนละเอียดมาก มีข้อมูลพอที่จะสังเกตได้ เป็นความสามารถเฉพาะตัวครับ ขอแนะนำให้สังเกตความน่าเชื่อถือของผู้จำหน่าย และเลือกใช้ตราที่ไม่อยู่ในความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะตราที่เป็นอันรู้กันว่าถูกปลอมแปลงอย่างแพร่หลาย อย่าไปใช้ เป็นหน้าที่ของผู้จำหน่ายของแท้ที่จะป้องกัน เอาเรื่องผู้ปลอมแปลงให้ถึงที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดครับ
ส่วนเรื่องความเสียหายต่อเครื่องยนต์ มักเห็นหรือตรวจสอบได้ยากในระยะสั้น เพราะเป็นความสึกหรอเกินระดับปกติของชิ้นสวนภายในเครื่องยนต์
34. หากใกล้ถึงกำหนดเปลี่ยนถ่าย แล้วระดับน้ำมันเครื่องลดลงเกือบถึงขีดล่าง ควรเติมหรือไม่ ?
อย่าเติมครับ ใช้ต่อไปจนถึงกำหนด แม้ระดับจะอยู่ที่ชีดล่างพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร เติมไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยครับ เสียเงินเปล่าๆ
35. วัดระดับน้ำมันเครื่องตอนเครื่องเย็นหรือร้อน จึงจะถูกต้อง ?
ตอนเครื่องเย็นครับ ที่จริงเย็นหรือร้อนไม่สำคัญ แต่ควรวัดหลังดับเครื่องยนต์แล้วนานพอสมควร เช่นไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง การวัดหลังจากจอดไว้ทั้งคืนจึงดีที่สุด น้ำมันเครื่องไหลกลับลงอ่างเต็มที่ และหายร้อน จึงค่อนข้างข้น ดึงขึ้นมาแค่ให้เห็นระดับน้ำมันเครื่องที่เลอะอยู่ก็พอครับ ไม่ต้องเช็ดแล้วเสียบใหม่อีกครั้งด้วย เป็นวิธีที่ถูกต้องและง่ายที่สุด
36. ต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายหรือไม่ ?
ไม่จำเป็นครับ ผู้ผลิตรถหลายรายอนุญาตให้เปลี่ยนครั้งเว้นครั้ง แต่คนไทยไม่ยอมเชื่อ เจ้าของรถพอใจที่จะเปลี่ยนทุกครั้ง ผู้รับจ้างเปลี่ยนก็พอใจอยู่แล้วที่ได้ขายของ ในเมื่อราคาไม่สูงมาก ก็คงต้องแนะนำให้เปลี่ยนทุกครั้งไม่คุ้มกับการถูกดูถูก นินทา หรือหัวเราะเยาะเย้ยลับหลังโดยผู้รับจ้างครับ
อ้างอิงจาก https://www.autoinfo.co.th