ในภาวะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัว นอกจากจะส่งผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นแล้วน้ำมันเครื่องก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่มีอัตราการขยายตัวทางการตลาด และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ผู้ผลิตมีการคิดค้น พัฒนาและแข่งขัน เพื่อออกสินค้าใหม่ๆ มาจำหน่ายอยู่เสมอ ซึ่งในยุคที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นสวนทางรายได้ผู้บริโภคที่ลดลง ก็กลายเป็นช่องว่างให้ธุรกิจผิดกฎหมายเติบโต อาทิ น้ำมันเครื่องปลอม แต่การจะพิสูจน์ว่าน้ำมันนั้นเป็นของแท้ หรือของปลอม การดูด้วยสายตา ดูสี ดูความใส สัมผัสทดสอบความเหนียว อาจไม่สามารถพิสูจน์ได้ การพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันคุณภาพต่ำ หรือเป็นน้ำมันเครื่องปลอมหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจสอบโดยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ ซึ่งก่อนจะพิสูจน์ผู้บริโภคก็จ่ายเงินซื้อน้ำมันเหล่านั้นไปแล้ว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางให้มีการผลิตน้ำมันเครื่องที่ได้มาตรฐานไปจนถึงปลายทางการจำหน่าย อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพถูกต้องและลดความเสียหายที่เกิดจากการใช้น้ำมันเครื่องปลอม
สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยนัยน้ำมันเชื้อเพลิง หมายรวมถึงน้ำมันหล่อลื่นด้วยทั้งนี้อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดต้องแจ้งลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อขอความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่น พ.ศ. 2547 เพื่อสามารถควบคุมคุณภาพน้ำมันหล่อลื่นอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทางการจำหน่าย ดังนี้
– การกำหนดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง
– การติดตามตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเครื่อง
การกำหนดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง แบ่งออกเป็น 2 ด้าน
1.1 คุณสมบัติทางด้านเคมีและฟิสิกส์
ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นคุณสมบัติทั่วไป อาทิ ค่าความหนืดที่แสดงถึงความข้นใสของน้ำมันเครื่อง ค่าจุดวาบไฟเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงอุณหภูมิที่น้ำมันหล่อลื่นจะสามารถติดไฟได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและการเก็บรักษา ค่าจุดไหลเทเป็นการกำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันเครื่องจับตัวเป็นไขที่อากาศเย็นหรืออุณหภูมิต่ำ ปริมาณน้ำ ปริมาณตะกอน เพื่อป้องกันไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อน เป็นต้น
1.2 คุณสมบัติด้านการใช้งานของเครื่องยนต์
เพื่อให้น้ำมันเครื่องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ โดยกำหนดวิธีการให้ผู้ค้าน้ำมันที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายที่ใช้เครื่องหมายการค้าของตนเอง ต้องแสดงสูตรการผลิต และผลการทดสอบทางเครื่องยนต์ตามมาตรฐาน และชั้นคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ผู้ค้าน้ำมันจะ จำหน่าย ให้กรมธุรกิจพลังงานให้ความเห็นชอบ (ขึ้นทะเบียน) และกำหนดเลขทะเบียนน้ำมันเครื่อง ให้ผู้ค้าน้ำมันนำไปแสดงบนฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังเกต โดยผู้ค้าน้ำมันจะต้องผลิตน้ำมันเครื่องให้ได้มาตรฐานตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และให้ความ
เห็นชอบไว้
การขอความเห็นชอบลักษณะและคุณภาพด้านการใช้งานของน้ำมันหล่อลื่น จะครอบคลุมเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ และเครื่องยนต์ดีเซล หรือที่เรียกทั่วไปว่า น้ำมันเครื่องโดยอ้างอิงเกณฑ์การพิจารณาตามมาตรฐานสากล ได้แก่ มาตรฐาน API เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยกำหนดตั้งแต่ชั้นคุณภาพ API SC และ CC ขึ้นไป แต่หากไม่มีผลการทดสอบตามมาตรฐานAPI จะพิจารณาตามมาตรฐาน ACEA , JASO, GLOBAL และ OEM อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ผู้ค้าน้ำมันแสดงความประสงค์ รวมทั้งการพิจารณาชนิดความหนืดตาม SAE
ผู้ค้าน้ำมันที่มาขอรับความเห็นชอบ คือ ผู้ค้าน้ำมันหล่อลื่นที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้าน้ำมันหล่อลื่นที่เป็นเจ้าของชื่อในทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าที่ใช้ หรือจะใช้กับน้ำมันหล่อลื่นนั้น โดยต้องยื่นขอความเห็นชอบลักษณะและคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นต่อกรมธุรกิจพลังงาน และได้รับความเห็นชอบก่อนนำออกจำหน่าย
ปัจจุบันมีผู้ค้าน้ำมันหล่อลื่นที่ได้รับความเห็นชอบการจำหน่ายจากกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 167 ราย 3,729 เลขทะเบียน
การติดตามตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเครื่อง
การกำหนดเลขทะเบียนน้ำมันเครื่อง นอกจากจะมีประโยชน์เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังเกต และเกิดความมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันเครื่องในเบื้องต้นก่อนที่จะซื้อน้ำมันเครื่องไปใช้แล้ว ยังใช้ในการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ผลิตและจำหน่าย ให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด และได้รับความเห็นชอบไว้ เพื่อป้องกันการปลอมปนปลอมแปลงน้ำ มันเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันเครื่องจากผู้ค้าน้ำมันแต่ละรายที่ได้รับความเห็นชอบเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาตรวจสอบคุณภาพในห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมมาตรการในการกำกับดูแลทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทางการจำหน่าย กรมธุรกิจพลังงาน ได้มีการสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นที่จำหน่ายตามร้านค้าทั้งนี้ เพื่อสำรวจว่าผู้ค้าน้ำมันได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด มีการแสดงเลขทะเบียนบนฉลาก รวมทั้งสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นที่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมทั้งทำความเข้าใจ แนะนำร้านค้าให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน และกระตุ้นให้ผู้ค้าน้ำมันหันมาผลิตน้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 กำหนดโทษผู้ค้าน้ำมันและผู้ประกอบการที่จำหน่ายน้ำมันเครื่องที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือมีคุณภาพแตกต่างไปจากที่ได้รับความเห็นชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสำหรับผู้ที่ทำการปลอมปนน้ำมัน หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันทำให้น้ำมันเครื่องมีลักษณะและคุณภาพแตกต่างไปจากที่กำหนด และให้ความเห็นชอบ หรือลดคุณภาพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
น้ำมันเครื่องปลอม
การเพิ่มขึ้นของจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ส่งผลให้ตลาดน้ำมันเครื่องขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี นอกจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะแล้ว ตลาดน้ำมันเครื่องยังต้องเผชิญปัญหาของน้ำมันเครื่องปลอมอีกด้วย
น้ำมันเครื่องปลอม หมายถึง น้ำมันเครื่องที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือมีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ได้รับความเห็นชอบไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีน้ำมันเครื่องปลอมในลักษณะอื่นๆ อีก อาทิ ปลอมคุณภาพอาจเป็นการนำน้ำมันเครื่องใช้แล้ว มากรอง และฟอกสีโดยกรด หรือการนำน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) มาบรรจุขายโดยไม่เติมสารเติมแต่ง ฉลากมักจะไม่มีการแสดงวัตถุประสงค์ มาตรฐานการใช้งาน แต่จะใช้สื่อรูปภาพ เช่น รูปรถยนต์ ยานพาหนะต่างๆ หรือรูปเครื่องยนต์ หรือใช้ชื่อ ยี่ห้อ ที่ใกล้เคียงกับยี่ห้อดังซึ่งเป็นการสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด และอาจมีการจูงใจในด้านราคา ที่ค่อนข้างถูกกว่าสินค้าทั่วไป และที่สังเกตได้ยากคือการนำภาชนะเก่ามาบรรจุ หรือผลิตภาชนะใหม่แต่เลียนแบบยี่ห้อดัง ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการที่เป็น
เจ้าของยี่ห้อก็ได้มีความพยายามที่จะนำมาตรการต่างๆ มาใช้ เช่น การผลิตฟอยล์ฝา หรือ ซีลปิดผนึกที่มีลักษณะพิเศษ การใส่รหัสต่างๆ เพื่อให้การปลอมแปลงหรือเลียนแบบทำได้ยากขึ้น
การไม่ระมัดระวังในการเลือกซื้อหรือเลือกใช้น้ำมันเครื่อง จะเกิดผลเสียหายจากการใช้น้ำมันเครื่องปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน คือ
1. เครื่องยนต์เกิดการสึกหรอ
อายุการใช้งานสั้นลง หรือได้รับความเสียหายเร็วกว่าปกติเนื่องจากประสิทธิภาพในการทำหน้าที่หล่อลื่นลดลง โดยเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นที่มีกรดหลงเหลืออยู่จากการนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วไปฟอกด้วยกรด ซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่มีน้ำมันหล่อลื่นไหลผ่าน และอ่างของน้ำมันเครื่องเกิดการผุกร่อน หรืออาจทะลุได้
2. สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
เนื่องมาจากการสึกหรอในเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์หลวม การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะมากขึ้นกว่าเดิม
3. เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์
ปลดปล่อยมลพิษออกมาซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ
4. ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซ่อมแซมเครื่องยนต์
ดังนั้น ในการเลือกซื้อน้ำมันเครื่อง ผู้บริโภคอาจมีปัจจัยในการเลือกซื้อที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะพิจารณาในเรื่องของยี่ห้อที่เป็นที่รู้จัก รองลงมาก็อาจเป็นเรื่องราคา อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นผู้บริโภคควรสังเกตฉลากเป็นสิ่งแรกก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งนอกจากจะสังเกตเลขทะเบียนน้ำมันเครื่องแล้ว ควรพิจารณารายละเอียดอื่นๆ ประกอบ อาทิ รายละเอียดของมาตรฐาน ชั้นคุณภาพการใช้งาน เช่น API และชนิดความหนืด SAE ต้องชัดเจน ต้องแสดงชื่อ และสถานที่ตั้งของผู้ค้าน้ำมันที่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตรวจสอบ และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เปิดเผยเชื่อถือได้
แม้ว่าภาครัฐจะได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไข และลดปัญหาน้ำมันเครื่องปลอมมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงแต่รายได้ต่ำ ทำให้มีแรงจูงใจต่อผู้ที่คิดจะหลีกเลี่ยงกฎหมายอยู่เสมอ ซึ่งการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการที่ต้องเข้มงวดในการกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบ ภาคเอกชนที่ต้องพยายามสร้างความเชื่อถือ และผู้ใช้น้ำมันที่ปัจจุบันมีความรู้ที่จะรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของตนมากขึ้น
และหากท่านพบปัญหาน้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำ น้ำมันเครื่องปลอม หรือพบการกระทำที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย มีข้อแนะนำในการร้องเรียน ดังนี้ ผู้ร้องเรียนจำเป็นต้องสังเกต และจดจำรายละเอียดต่างๆอาทิ ชื่อที่ตั้งของสถานีบริการ ศูนย์เปลี่ยนถ่าย อู่ซ่อม ร้านค้า หรืออาจเก็บใบเสร็จไว้ รวมทั้งรายละเอียดของน้ำมันเครื่องที่ใช้ ความผิดปกติของเครื่องยนต์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการร้องเรียนดังกล่าวมีหลักฐานแวดล้อมปรากฏชัดเจน และเจ้าหน้าที่สามารถเดินทางไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการต่อไปได้ ทั้งนี้
สามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ที่ส่วนตรวจสอบ สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงานหมายเลข โทรศัพท์ 02 547 4324-5 โทรสาร 02 547 4323 หรือทางกระดานถามตอบในเว็ปไซต์กรมธุรกิจ พลังงาน www. doeb.go.th หรือแจ้งผ่านพลังงานจังหวัดในภูมิลำเนาของท่าน